วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติเมืองระนอง

ประวัติเมืองระนอง

เมืองระนองเดิมเป็นแต่เมืองขึ้นของเมืองชุมพรมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง เรียกชื่อตามนามเมืองว่า “หลวงระนอง” แต่รับตราตั้งจากกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับเจ้าเมืองขึ้นทั้งปวง ประเพณีกำหนดอณาเขต ในการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ เอราชธานีตั้งเป็นหลัก มีเมือง (จัตวา) รายรอบ การต่างๆ ในเมืองเหล่านี้ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชา ของเจ้ากระทรวงในราชธานีเป็นทำนองมณฑลราชธานี ภายนอกมณฑลราชธานีออกไปเอา “หัวเมือง” เป็นหลัก (กำหนดว่าเป็นหัวเมืองเอก หัวเมืองโท หรือหัวเมืองตรี ตามขนาด)หัวเมืองหนึ่งก็มีเมืองขึ้นรายรอบและบังคับบัญชา ทำนองเดียวกับ มณฑลราชธานีเป็นมณฑลไป ดังนี้ หัวเมืองใดอณาเขตกว้างขวางก็มีเมืองขึ้นมาก หัวเมืองที่มีอณาเขตแคบก็มีเมืองขึ้นน้อย และเมืองขึ้นนั้นกำหนดด้วยท้องที่ สุดแต่ให้พนักงานปกครองต่างเมืองไปมาถึงกันได้ ในวันหนึ่งถึงสองวัน (ในสมัยเมื่อทางคมนาคมยังกันดาร) เพื่อจะได้บอกข่าวและช่วยเหลือกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ ส่วนจำนวนผู้คน ในเมืองท้องที่ จะมีมากหรือน้อยไม่ถือเป็นข้อสำคัญในการตั้งเมืองขึ้น เพราะผู้คนมักย้ายไปถ่ายมาได้ง่าย

ในบรรดาหัวเมืองทางแถบมาลายูที่ตั้งมาแต่โปราณ เมืองชุมพรประหลาดผิดกับเพื่อนอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่มีตัวเมือง เหมือนเมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองปัตตนี เมืองถลาง และมืองตะกั่วทุ่ง ทางฝ่ายตะวันตก ล้วนมีโบราณวัตถุ ปรากฏอยู่รู้ได้ว่าเป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่ส่วนเมืองชุมพร ข้าพเจ้าผู้แต่งหนังสือนี้ได้ให้ค้นหานักแล้วยังมิได้พบ โบราณวัตถุเป็นสำคัญ บางที่จะเป็นด้วยเหตุ ๒ อย่างคือ มีที่ทำนาไม่พอคนมากอย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ อยู่ตรงคอแหลมมาลายู มักเป็นสมรภูมิรบพุ่งกันตรงนั้น จึงไม่สร้างบ้านเรือน แต่ต้องตั้งรักษาเป็นเมืองด่าน เมืองชุมพรจึงได้มีศักดิ์เป็นหัวเมืองชั้นตรี มีอณาเขต ถึงทะเลทั้ง ๒ ฝ่ายมาแต่โบราณ เมืองขึ้นของเมืองชุมพรทางฝ่ายตะวันออกมี ๔ เมือง ลำดับแต่เหนือลงไปใต้ คือเมืองปะทิว ๑ เมืองทาแซะ ๑ อยู่ข้างเหนือตัวเมืองชุมพร เมืองตะโก ๑ เมืองหลังสวน ๑ อยู่ข้างใต้ ทางตะวันตกมี 3 เมือง คือเมืองตระ ๑ เมืองมลิวัน (เดี๋ยวนี้อยู่ในแดนเมืองอังกฤษ) ๑ เมืองระนอง ๑

เมืองระนองอณาเขตทางเหนือต่อเมืองตระ ทางตะวันออกต่อเมืองหลังสวน ทางใต้ต่อเมืองตะกั่วป่า ทางตะวันตกเป็นทะเล และต่อเขตเมืองมลิวัน ในพื้นเมืองระนองเป็นภูเขาโดยมาก มิใคร่มีที่ราบ ราษฎรทำไร่นายาก จึงมิใคร่มีผู้คนพลเมือง แต่ว่าเป็นท้องที่ มีแร่ดีบุกทั้งบนภูเขาและตามที่ราบ ชาวเมืองจึงหาเลี้ยงชีพด้วยขุดแร่ดีบุกขายมาแต่โบราณ ฝ่ายรัฐบาลจะผ่อนผันให้ราษฎรเป็นผาสุก จึงกำหนดให้ส่งส่วยดีบุกแทนรับราชการอย่างอื่นมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา มาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (เห็นจะเป็นเมื่อในรัชกาลที่ ๓หรือก่อนนั้นไม่ทราบแน่) ให้มีเจ้าภาษีรับผูกขาดอากรดีบุก คือจัดบำรุงการขุดแร่และมีอำนาจที่จะซื้อและจะเก็บส่วยดีบุก ในแขวงเมืองตระ ตลอดมาจนเมืองระนอง โดยยอมสัญญาส่งดีบุกแก่รัฐบาลปีละ ๔๐ ภารา (คิดอัตราในเวลานั้น ภารา ๑ หนัก ๓๕๐ ชั่ง เป็นดีบุก ๑๔,๐๐๐ ชั่ง) เป็นอย่างนี้มาจนปลายรัชกาลที่ ๓

ครั้นเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗ จีนคอซู้เจียง (ซึ่งภายหลังได้เป็นที่ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ผู้เป็นต้นสกุล ณ ระนอง) เข้ามายื่นเรื่องราวต่อกระทรวงกลาโหม ขอประมูลอากรดีบุก แขวงเมืองตระ และระนอง ขึ้นเป็นปีละ ๔๓ ภารา หรือคิดเป็นเงินราคาภาราละ ๔๘ เหรียญ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตั้งจีนคอซู้เจียง เป็นที่หลวงรัตนเศรษฐี ตำแหน่งขุนนางนายอากร แต่นั้นมา มีสำเนาท้องตราพระคชสีห์ ตั้งหลวงรันเศรษฐีความพิสดารดังนี้


ตราตั้งจีนคอซู้เจียง เป็นที่หลวงรัตนเศรษฐี

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิรพยปรากรมพาหุ สมุหพระกะลาโหม มาถึงพระยาเพ็ชร์กำแหงสงคราม พระยาชุมพรและกรมการเมืองชุมพร เมืองตระ เมืองระนอง

ด้วยจีนเจียงเข้าไป ณ กรุงเทพพระมหานคร ทำเรื่องราวให้กราบบังคมทูล พระกรุณาว่า อากรดีบุกเมืองตระ หลวงจำเริญวานิชทำอยู่ที่ระนอง ทุ่งคา บางริ้น สระส้มแป้น ๔ ตำบล เป็นอากรปีละ ๔ ภารา จีนเจียงเห็นว่าที่เกิดแม่แร่ดีบุกยังมีอยู่มาก จะขอชักชวน ไทย จีน แขก มาทำเหมืองใหญ่ เหมืองแล่น ขุดร่อนแม่แร่ขึ้นที่ปลายคลองปากจั่นตำบลหนึ่ง ระนองตำบลหนึ่ง ทุ่งคาตำบลหนึ่ง พอนรั้งตำบลหนึ่ง บางริ้นตำบลหนึ่ง สระส้มแป้นตำบลหนึ่ง กะเปอร์ ฟากแม่น้ำ แขวงระนองตำบลหนึ่ง ราดกรูดตำบลหนึ่ง ตำบลบางพรุหนึ่ง แขวงเมืองตะโกที่หาดทรายขาวปลายคลองตะโกหนึ่ง เข้ากัน ๑๐ ตำบล โรงกรวงเดิมตั้งอยู่ที่เมืองระนองแล้ว จะขอตั้งโรงกรวงขึ้นใหม่อีกที่บางพระตำบลหนึ่ง ปลายคลองปากจั่นโรงหนึ่ง ราดกรูดโรงหนึ่ง กะเปอร์โรงหนึ่ง หาดทรายขาวโรงหนึ่ง แต่ปีมะเส็งสัปตศกปีแรกทำ จะขอประมูลอากรขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแต่ ๓ ภาราก่อน เข้ากันเป็นอากรเดิมประมูลปีละ ๔๓ ภารา ถ้าทำหมดอากรครบปีมีภาษีกำไรจะบอกทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขึ้นอีกทุกปี ๆ จึงนำเรื่องราวจีนเจียงขึ้นกราบบังคมทูล พระกรุณาทรงทราบ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า อากรดีบุกเมืองตระ เมืองระนองนั้น

หลวงจำเริญวานิชรับทำมาก็หลายปีแล้วไม่เป็นภาคภูมิขึ้นได้ อากรจำนวนปีเถาะเบญจศกส่ง มะโรงก็ยังคงค้าง จะให้หลวงจำเริญวานิช ทำอากรดีบุกเมืองตระ เมืองระนองสืบไป อากรก็จะทบเท่ามากขึ้น ซึ่งจีนจะรับทำอากรดีบุกเมืองตระ เมืองระนองเดิม ๔๐ ภารา ประมูล ๓ ภารา เข้ากัน ๔๓ ภารานั้น ก็ให้จีนเจียงรับทำอากรต่อไปเถิด โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จีนเจียงเป็นหลวงรัตนเศรษฐีนายอากร พระราชทานเสื้อเข้มขาบก้านแย่งตัวหนึ่ง เสื้อมังกรน้ำเงินตัวหนึ่ง แพรขาวห่มเพลาะหนึ่ง แพรขามห่มผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง ผ้าเชิงปูมผืนหนึ่ง ให้หลวงรัตนเศรษฐีทำอากรตำบลหาดทรายขาว แขวงเมืองตะโก ระนอง ทุ่งคา พอนรั้ง บางริ้น สระส้มแป้น บางพระ ราดกรูด กะเปอร์ ปลายคลองปากจั่น แขวงเมืองตระ เมืองระนอง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอังกฤษ เป็นอากรปีละ ๔๓ ภารา ตั้งแต่วันเดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำปีมะเส็งสัปตศกเดือน ๔ หนัก ๒๑ ชั่ง ให้ส่งเสมอปีละ ๒ งวดจงทุกงวดทุกปี อย่าให้ดีบุกอากรของหลวงขาดค้างงวดล่วงงวดปีไปแต่จำนวนหนึ่งได้ ถ้าจะส่งเงินเข้าไปแทนดีบุก ก็ให้คิดเงินส่งภาราละ ๔๘ เหรียญถ้าจะส่งดีบุกก็ให้ส่ง ๓๕๐ ชั่งต่อภารา ให้หลวงรัตนเศรษฐีตั้งโรงกลวงสูบฉลุงแร่ดีบุกในแขวงเมืองตระ เมืองระนอง เมืองตะโกอย่าให้ล่วงอำเภอเมืองอื่น เกิดอริวิวาทกัน ด้วยที่เขตแดนเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าทำอากรครบปี มีภาษีกำไรก็ให้บอกทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขึ้นอีกจะได้เป็นความชอบกับหลวงรัตนเศรษฐีสืบต่อไป และให้หลวงรัตนเศรษฐีทำอากรดีบุก โดยสัตย์โดยธรรม

ถ้าราษฎรขุดร่อนแม่แร่ดีบุกจะเอามาตวงขึ้นโรงกลวงสูบฉลุงมากน้อยเท่าใด ให้หลวงรัตนเศรษฐีคิดค่าแร่ ให้กับราษฎรให้ครบอย่าให้ทำฎีกา ให้แก่ราษฎรใช้สอยแทนเงินแทนดีบุก และขันเฟืองลูกตุ้มคันวิสัย สำหรับตวงแม่แร่ชั่งดีบุกนั้นมีอยู่ สำหรับโรงกลวงแล้วให้หลวงรัตนเศรษฐีเอาขันเฟืองลูกตุ้มคันวิสัยของหลวง ซึ่งให้ออกมาสำหรับโรงกลวงนั้นมาใช้สอย สำหรับตวงแม่แร่ดีบุกของราษฎร อย่าให้ขันเฟืองลูกตุ้มใหญ่แปลกปลอมมาตวงแร่ดีบุกของราษฎรให้เหลือเกิน ถ้าและราษฎรได้แม่แร่ดีบุกมาตวงขึ้น โรงกลวงมากน้อยเท่าใด ก็คิดเงินให้ค่าแม่แร่ดีบุกของราษฎรให้ครบ อย่าให้ทำฎีกาให้ราษฎรเจ้าของแร่ให้ได้รับความยากแค้นเดือดร้อน ถ้าสูบ ฉลุงได้น้ำแม่แร่ดีบุกจะทำเป็นดีบุกย่อย ใช้สอยซื้อขายกันกลางบ้านกลางเมือง อย่าให้เรียกเอาเศษดีบุกเลย ถ้าผู้ใดจะเอาดีบุกย่อยไปซื้อขายจำหน่าย นอกประเทศ ก็ให้เจ้าเมืองกรมการ นายอากรกำกับกันตีราคาดีบุกปึก ดีบุกย่อย เรียกเศษดีบุก ภาราละ ๒ เหรียญ อย่าให้ผู้ใดเอาดีบุกปึกดีบุกย่อย ซึ่งยังไม่ได้ตีตราเรียกเศษ ลักลอบออกไปซื้อขายนอกบ้านนอกเมืองได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้าเรียกเงินเศษดีบุกจำนวนปีใดได้มากน้อยเท่าใด ก็ให้เจ้าเมืองกรมการทำหางว่าวจำนวนเงินเศษดีบุกปีนั้นเท่านั้น บอกส่งเงินและหางว่าวเข้าไปยังกรุงเทพพระมหานครทุกปี ได้ทำตราเหล็กสำหรับ ตอกพิมพ์ดีบุกปึกดีบุกย่อยมอบให้ออกมากับหลวงรัตนเศรษฐด้วยแล้ว

อนึ่งเป็นอย่างธรรมเนียม นายอากรคนใหม่คนเก่ารับอากรต่อกัน นายอากรคนใหม่ต้องรับรองและโรงกลวง โรงกงสี เรือใหญ่ เรือน้อย เครื่องมือใช้สอยแม่แร่มูลตะกาง และถ่าน ต่อนายอากรคนเก่า คิดราคาให้นายอากรคนเก่าตามธรรมเนียมเมืองพังงา

เมืองตะกั่วป่าทำมาแต่ก่อนอนึ่งให้หลวงรัตนเศรษฐีกำชับห้ามปราบบ่าวและทาสสมัครพรรคพวกซึ่งทำอากรด้วยกันนั้นอย่าให้คบหากัน เป็นโจรผู้ร้ายปล้นสดมภ์ ลักช้าง ม้า โค กระบือ เครื่องอัญมณีของสมณชีพราหมณ์ อณาประชาราษฎร ลูกค้าวานิช ทางบกทางเรือ ให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อน และซื้อขายสิ่งของต้องห้าม กระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฏหมาย ห้ามปรามเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อนึ่งเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารท ก็ให้หลวงรัตนเศรษฐีไปพร้อมด้วยเจ้ากรมการเมืองระนอง ณ พระอาราม บ่ายหน้าต่อกรุงเทพพระมหานคร กราบถวายบังคมรับพระราชทานน้ำพิพัฒสัตยาปีละ ๒ ครั้งเสมอ จงทุกปีอย่าให้ขาด ครั้นลุท้องตรานี้ไซ้ก็ให้พระยาชุมพรกรมการเมืองชุมพร กรมการเมืองตระ กรมการเมืองระนองจำลองลอกท้องตรานี้ไว้แล้วส่งต้นตราตั้งนี้ให้หลวงรัตนเศรษฐี ทำอากรเมืองตระ เมืองระนอง เมืองตะโก สืบไป

หนังสือมา ณ วันอังคารเดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๐๖ ปีมะโรง นักษัตรฉศก (พ.ศ. ๒๓๘๗)


ตรารูปคนถือดาพประจำครั่ง ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก

จีนคอซู้เจียงผู้ได้เป็นหลวงรัตนเศรษฐีนี้เป็นจีนฮกเกี้ยน เกิดที่เมืองเจียงจิวหูในประเทศจีน เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๔๐ ครั้นอายุได้ ๒๕ ปี ออกจากเมืองจีนมายังเกาะหมากประกอบกรรมกรเป็นอาชีพ พอสะสมได้ทุนบ้างแล้วเข้ามาอยู่ตั้งค้าขายในพระราชอณาเขตที่เมืองตะกั่วป่า ได้อาศัยความอุปการะของท้าวเทพสุนทร ซึ่งเป็นสตรีมีทุนทำการค้าขายอยู่ในจังหวัดนั้น

ครั้นทำมาหากินมีทุนมากขึ้นเห็นว่าที่เมืองพังงาเป็นทำเลการค้าขายดีกว่าเมืองตะกั่วป่า จึงไปตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหลักแหล่งที่ตลาดเมืองพังงา จนทำมาหากินได้ทุนทรัพย์บริบรูณ์ขึ้น จึงคิดต่อเรือกำปั่นใบลำหนึ่งแล้วลงเรือนั้นไปเที่ยวค้าขาย รับซื้อสินค้าที่เกาะหมากเที่ยวขายตามหัวเมืองชายทะเล ตะวันตกไปจนถึงเมืองระนอง เมืองตระ และรับซื้อสินค้าตามหัวเมืองเหล่านั้น มีดีบุก เป็นต้น ไปขายยังเกาะหมากอาศัยการที่เที่ยวค้าขายเช่นนี้ จึงได้รู้เบาะแสที่ทำมาหาผลประโยชน์ทางหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก มาเห็นว่าเมืองระนองเป็นทำเลที่มีแร่ดีบุก แต่ผู้ทำการขุดหาค้าขายยังมีน้อย อาจจะตั้งทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยค้าดีบุกที่เมืองระนอง ให้เป็นการใหญ่โตขึ้น โดยมิต้องแย่งชิงกับผู้ใด จึงได้เข้ามาขอผูกอากรดีบุกเมืองระนอง ภายหลังยกครอบครัวย้ายมาตั้งภูมิลำเนาอยู่เมืองระนอง บ้านเดิมที่ตลาดเมืองพังงาก็ยังรักษาไว้ เห็นจะเป็นด้วยไม่ประมาท หมายว่าถ้าทำการอาชีพ ที่เมืองระนองไม่สำเร็จก็จะกลับไปอยู่ที่เมืองพังงา บ้านที่เมืองพังงานั้นยังรักษาไว้เป็นที่ระลึกต่อมาจนถึงชั้นบุตรหลาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น